คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาของฝุ่นในทุก ๆ ปีในช่วงปลายปีถึงต้นปีถัดไปนั้นกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยไม่ใช่น้อยและยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ในบางวันถึงกับติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นสูงที่สุดในโลก 5 อันดับแรก (เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นต้น) นอกจากฝุ่นจะเป็นอันตรายต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ อย่างมหาศาลอีกด้วย โดยในครั้งนี้ทางแอดมินเรียบเรียงบทความและข้อมูลผลกระทบของฝุ่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยในกรุงเทพฯ คร่าว ๆ มาให้อ่านกัน
ทางทีมศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองว่าการประเมินผลกระทบของฝุ่นละอองในกรุงเทพฯต่อระบบเศรษฐกิจนั้นมี 2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. ค่าเสียโอกาสที่เกิดจากปัญหาสุขภาพ ในที่นี้รวมถึงค่ารักษาพยาบาลสำหรับอาการภูมิแพ้ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และหน้ากากอนามัย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน และยังคงถือว่าเป็นค่าเสียโอกาสเนื่องจากผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
2. ค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่แต่เดิมตั้งใจมาเที่ยวที่กรุงเทพฯอาจมีการเปลี่ยนเป้าหมายไปพื้นที่อื่นแทนในประเทศไทย อ่านดูผิวเผินก็สามารถคิดได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวยังคงมาเที่ยวประเทศไทยอยู่ดี อย่างไรก็ดีถ้าหากปัญหามลพิษทางอากาศนี้ยังคงเกิดขึ้นทุก ๆ ปี ในอนาคตเป้าหมายของนักท่องเที่ยวอาจไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองจะเป็นผลกระทบอย่างมหาศาลต่อกรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วกรุงเทพฯ เปิดรับนักท่องเที่ยวจากไทยและต่างชาติประมาณ 5 ล้านคนต่อเดือน ด้วยจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวข้างต้นทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจการท่องเที่ยวสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 พบว่าการเกิดมลภาวะทางอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 (ช่วงเวลาการคิดคำนวณไม่ถึง 1 เดือน) สร้างค่าเสียโอกาสต่อระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2,600 ล้านบาท และในปีถัดมาทางทีม KResearch ได้ทำการประเมินผลกระทบในรูปแบบเดียวกัน (ช่วง 5 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์) พบว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 3.2 – 6 พันล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และค่าหน้ากากกันฝุ่น 2 - 3 พันล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1 – 2.4 พันล้านบาท และค่าเสียโอกาสของธุรกิจร้านอาหารราว 2 – 6 ร้อยล้านบาท
จากตัวเลขการประเมินข้างต้นแสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินคร่าว ๆ ที่ประชาชนและรัฐบาลจำเป็นต้องจ่ายสำหรับวิกฤติการณ์ฝุ่นซึ่งเป็นตัวเลขไม่น้อยและหากจะต้องสูญเสียเงินจำนวนนี้ทุก ๆ ปี คงเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ณ ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของ SARS-CoV-2 อีกด้วย ปัญหาเหล่านี้จะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจำเป็นต้องจ่ายจะแพงขนาดไหน และสถานการณ์ทั้งสองนี้จะดีขึ้นเมื่อไหร่ ยังคงไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้
แหล่งอ้างอิง
1. KASIKORN RESEARCH CENTER. “Economic Costs of Bangkok Air Pollution Preliminarily Estimated to be at Least THB2.6 Billion (Current Issue No.2955)”. [online]. Available: https://kasikornresearch.com/.../economy/Pages/z2955.aspx
.
2. KASIKORN RESEARCH CENTER. “Escalating PM2.5 problem prompts government to speed up measures to address the problem as people pay attention to health risks (Current Issue No.3076)”. [online]. Available: https://kasikornresearch.com/.../economy/Pages/z3076.aspx